top of page
หลอดสวนฟอกเลือดชนิดถาวร
centrosflo.png

การดูแลหลังผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใส่หลอดสวนฟอกไตชนิดกึ่งถาวร เพื่อใช้สำหรับฟอกเลือด

หลอดสวนชนิดถาวร” สำหรับฟอกเลือด

 เป็นหลอดสวนที่ใช้เป็นทางนำเลือดเข้าและออกจากร่างกายโดยต่อสายเชื่อมเข้ากับเครื่องไตเทียม

หลอดสวนชนิดถาวรอาจมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลอดสวนชนิดกึ่งถาวร

หลอดสวนชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้นานโดยทำจากวัสดุที่มีความนุ่มและโค้งงอได้ง่าย ไม่มีปฏิกิริยากับร่างกาย บริเวณกลางของตัวสายจะมีปลอกลักษณะคล้ายฟองน้ำพันหุ้มตัวสายขนาดกว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร

ซึ่งทำหน้าที่เกาะยึดกับเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ สามารถป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าตามทางออกของหลอดสวนเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ใช้ได้นาน โอกาสเกิดการติดเชื้อต่ำ อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี  แต่ในบางรายอาจใช้ได้นานหลายปี ขึ้นอยู่กับการควบคุมอาหาร และการรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการถูกน้ำบริเวณพลาสเตอร์ปิดแผล

ข้อบ่งชี้ในการใช้หลอดสวนชนิดถาวร

  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำผ่าตัดหลอดเลือดจริงบริเวณแขนได้เนื่องจากหลอดเลือดมีขนาดเล็กมาก

  • ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดจริงที่แขนแล้ว แต่ระยะเวลายังไม่ถึง 6-8 สัปดาห์หลอดเลือดจึงยังไม่แข็งแรงที่จะสามารถใช้ฟอกเลือดได้

  • ผู้ป่วยสูงอายุมากๆ และมีโรคประจำตัวเรื้อรังหลายโรค เช่น โรคหัวใจ

ตำแหน่งที่นิยมผ่าตัด

   โดยทั่วไปแล้วหลอดสวนชนิดถาวรจะใส่เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอและฝังหลอดสวนไว้ใต้ผิวหนังโดยให้โคนสายมาโผล่บริเวณ หน้าอก หรือบริเวณหัวไหล่ แต่บางกรณีที่หลอดเลือดดำในอกตีบตันอาจใส่ที่ขาหนีบก็ได้

 ในที่นี้จะแนะนําการดูแลหลังผ่าตัดใส่หลอดสวนชนิดถาวรที่หน้าอก เป็นหลัก

การให้ยาระงับความรู้สึก

  • โดยปกติผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่ร่วมกับการให้ยาระงับปวดขณะทำการผ่าตัด จึงจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง 

  • การให้ยาระงับปวดกับผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศัลยแพทย์และวิสัญญี

after surgery

การดูแลหลังผ่าตัด

  • หลังผ่าตัดในระยะสัปดาห์แรกไม่ควรขยับแขนหรือหัวไหล่ด้านนั้นมากเกินไป ควรให้แขนแนบอยู่ข้างลำตัว ไม่ควรกางแขนหรือหมุนแขนไปมา

  • หลังผ่าตัดเสร็จไม่ควรใช้มือข้างที่ผ่าตัดยันพื้นเตียงเพื่อลุกขึ้นนั่งหรือเวลาย้ายเตียงจากเตียงผ่าตัดไปยังเปลเข็นผู้ป่วย

  • หลอดสวนชนิดถาวรควรใช้ฟอกเลือดหลังผ่าตัดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง แต่ถ้าจําเป็นจริงๆ ก็สามารถใช้ฟอกเลือดได้เลยแต่ไม่ควรให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว

       (เฮปาริน) ขณะฟอกเลือด

  • ระวังอย่าให้แผลหรือหลอดสวนถูกน้ำ แต่ถ้าแผลโดนน้ำควรไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเปลี่ยนผ้าทำแผลใหม่

  • ทุกๆ ครั้งที่ใช้หลอดสวนฟอกเลือดจะต้องเปิดทำแผลใหม่ทุกครั้ง และต้องตรวจสอบบริเวณที่เป็นทางออกของหลอดสวนด้วยว่ามีการอับเสบหรือไม่

  • ในกรณีที่ใส่หลอดสวนที่ขาหนีบ ไม่ควรงอพับสะโพกและไม่ควรให้อับชื้นจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

  • ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ข้อแนะนำในการตัดไห

  • แผลที่บริเวณทางออกของหลอดสวน (Exit site) มักจะไม่เย็บ แต่ถ้ามีการเย็บควรตัดไหมภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะถ้ามากกว่า 2สัปดาห์ จะมีโอกาสติดเชื้อที่บริเวณนี้สูงมาก

  • แผลที่คอเหนือไหปลาร้าจะเป็นจุดที่แทงหลอดเลือด (Puncture site) ควรตัดไหมหลังผ่าตัด 7-14 วัน

  • ไหมที่บริเวณปีกที่ใช้เย็บตรึงกับผิวหนังควรตัดไหมหลังผ่าตัด

       ประมาณ 1-2 เดือน เนื่องจากปลอกหุ้มหลอดสวน (Dacron Cuff) จะยึดติดกับ          เนื้อเยื่อรอบๆ ใช้เวลามากกว่า 21 วัน

*หมายเหตุ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ตัดไหมที่ปีกเลยก็ได้

เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์

  • มีเลือดซึมออกจากแผลที่ผ่าตัดหรือจุดที่เป็นทางออกของหลอดสวนมากผิดปกติ เช่น ไหลออกมากเกินจากพลาสเตอร์ปิดแผล

  • มีอาการบวมที่แขนหรือใบหน้าข้างเดียวกันกับบริเวณผ่าตัด

  • พบเห็นปลอกหุ้มหลอดสวน (Dacron cuff) ลักษณะคล้ายฟองน้ำ ขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตรเลื่อนออกมาจากจุดที่เป็นทางออกของหลอดสวน

  • หลอดสวนแตกหักหรือร่วมกับมีเลือดไหล

  • มีไข้ หนาวสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือขณะฟอกเลือดมีอาการหนาวสั่น

  • มีหนองที่บริเวณปากทางออกของหลอดสวน

  • ผิวหนังที่บริเวณตั้งแต่ทางออกของหลอดสวนถึงบริเวณคอ มีอาการปวด บวม แดงร้อน

  • หลอดสวนด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านใช้ฟอกเลือดไม่ได้ โดยดูดเลือดไม่ออกหรือออกยากหรืออัตราการไหลของเลือด เข้าเครื่องไตเทียมน้อยเกินไป

bottom of page