การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใส่หลอดสวนชนิดชั่วคราว เพื่อใช้สำหรับฟอกเลือด
หลอดสวนชนิดชั่วคราวสำหรับฟอกเลือด เป็นหลอดสวนที่ใช้เป็นทางนำเลือดเข้าและออกจากร่างกายโดยต่อสายเชื่อมเข้ากับเครื่องไตเทียม
หลอดสวนชนิดชั่วคราวที่นิยมใช้คือ หลอดสวนชนิดสองรู เป็นหลอดสวนที่ตัวสายมีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีทั้งชนิดตรงและชนิดโค้ง โดยปลายหลอดสวนจะฝังอยู่ในร่างกายผู้ป่วย ส่วนโคนสายจะแยกออกเป็นสองท่อโผล่ออกมานอกผิวหนัง เวลาที่ใช้ในการผ่าตัดใส่หลอดสวนจะใช้เวลาประมาณ ครึ่งถึง 1 ชั่วโมง อายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
ข้อบ่งชี้ในการใช้หลอดสวนชนิดชั่วคราว
-
ผู้ป่วยที่รอให้หลอดเลือดที่ทำผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำที่แขนชนิดถาวรพร้อมใช้งาน
-
ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดชนิดถาวรที่แขนและใช้มานานจนเสื่อมสภาพ
-
ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่ต้องการฟอกเลือดด่วน
-
ผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้องแต่มีปัญหาติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยา
การให้ยา
ระงับความรู้สึก
-
โดยปกติผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่หรือร่วมกับการให้ยาระงับปวดขณะทำการผ่าตัด จึงจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
-
การให้ยาระงับปวดกับผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศัลยแพทย์และวิสัญญี
ตำแหน่งที่นิยมผ่าตัด
โดยทั่วไปแล้วหลอดสวนชนิดชั่วคราวจะใส่เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ หัวไหล่ ใต้ไหปลาร้า หรือที่ขาหนีบและเย็บตรึงหลอดสวนด้วยไหมไว้กับผิวหนัง
เอกซเรย์หลังใส่หลอดสวน
-
กรณีที่ใส่หลอดสวนที่คอหรือหัวไหล่หลังใส่หลอดสวนเรียบร้อยแล้วจะได้รับการส่งตรวจเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจสอบว่าตำแหน่งปลายหลอดสวนว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ
-
แต่ถ้าใส่หลอดสวนที่บริเวณขาหนีบไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด
1. ภาวะแทรกซ้อน
ที่เกิดจากการใส่หลอดสวน
-
ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
-
ภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอด จะมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกร่วมกับมีอาการเสียเลือดเช่น หน้ามืดเป็นลม
-
บริเวณที่ใส่หลอดสวนมีอาการบวมช้ำ
-
แทงถูกหลอดเลือดแดง เกิดก้อนเลือดเบียดหลอดลม
2. ภาวะแทรกซ้อน
ที่เกิดจากการใช้งาน
-
หลอดสวนอุดตันไม่สามารถใช้ฟอกเลือดได้
-
หลอดสวนใช้งานได้บ้างแต่อัตราการไหลของเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียมน้อยเกินไป
3. ภาวะแทรกซ้อน
จากการติดเชื้อ
-
การติดเชื้อที่ทางออกของหลอดสวน
-
ติดเชื้อในกระแสเลือด
*หมายเหตุ : ในที่นี้จะแนะนำการดูแลหลังผ่าตัดใส่หลอดสวนชนิดชั่วคราวที่คอเป็นหลัก
การดูแลหลังผ่าตัด
-
การใส่หลอดสวนชนิดชั่วคราวสามารถใช้ฟอกเลือดได้ทันที่แต่ไม่ควรให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (เฮปาริน) เมื่อฟอกเลือดครั้งแรก
-
ระวังอย่าให้แผลหรือหลอดสวนถูกน้ำ แต่ถ้าถูกน้ำควรไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
-
ทุกๆครั้งที่ใช้หลอดสวนฟอกเลือดจะต้องเปิดทำแผลใหม่ทุกครั้งและต้องตรวจสอบบริเวณที่เป็นทางออกของหลอดสวน ด้วยทุกครั้ง
-
ในกรณีที่ใส่หลอดสวนที่ขาหนีบ ไม่ควรงอพับข้อสะโพกและไม่ควรให้อับชื้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
-
ควรมาพบแพทย์ตามนัดโดยสม่ำเสมอ
เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์
-
มีเลือดไหลซึมออกจากแผลที่ใส่หลอดสวน (ไหลออกมาเกินจากพลาสเตอร์ปิดแผล)
-
หลอดสวนเลื่อนหลุดหรือถอยออกมาจากตำแหน่งเดิม ห้ามดันหลอดสวนเข้าไปเอง
-
ไหมที่เย็บตรึงกับผิวหนังขาดหรือหลุดออกจากผิวหนัง
-
แขนหรือใบหน้าข้างเดียวกับคอที่ใส่หลอดสวนบวม
-
หลอดสวนแตก หักหรือร่วมกับมีเลือดไหลออกมาด้วย
-
มีไข้ หนาวสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือขณะฟอกเลือดมีอาการหนาวสั่น
-
มีหนองไหลซึมออกจากแผลที่ใส่หลอดสวน
-
ผิวหนังบริเวณที่ใส่หลอดสวนมีอาการปวด บวม แดง ร้อน
-
หลอดสวนด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านใช้ฟอกเลือดไม่ได้โดยดูดเลือดไม่ออกหรือออกยากหรืออัตราการไหลของเลือดเข้าเครื่องไตเทียมน้อยเกินไป