top of page
หลอดเลือดเทียม
AVG2.png
หลอดเลือดเทียม

การดูแลหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ฝังหลอดเลือดเทียมเพื่อใช้สำหรับฟอกเลือด

การผ่าตัดฝังหลอดเลือดเทียมเพื่อฟอกเลือด

เป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อฝังหลอดเลือดเทียมไว้ใต้ผิวหนังโดยเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วย ไม่มีหลอดเลือดจริง

ที่เหมาะสมเช่นเล็กเกินไปหรือหลอดเลือดเปราะบางแตกง่าย อายุการใช้งานหลอดเลือดเทียมโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ถึง 2 ปี

หลอดเลือดเทียมทำจากอะไร

หลอดเลือดเทียมเป็นท่อกลมยาว นุ่ม สามารถจัดให้โค้งงอได้ ตามความต้องการของศัลยแพทย์ โดยที่หลอดเลือดเทียมต้องไม่พับงอ ทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่ไม่มีปฏิกิริยากับร่างกาย

ตำแหน่งที่นิยมผ่าตั

ส่วนใหญ่นิยมผ่าตัดหลอดเลือดเทียมไว้ที่ท้องแขนหรือต้นแขน แต่อาจฝังไว้ที่ต้นขาหรือหน้าอกก็ได้

การใช้ยาระงับความรู้สึก

  • โดยปกติผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเพื่อสกัดกั้นเส้นประสาทแขน (กรณีนี้ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัด)

  • สามารถผ่าตัดโดยฉีดยาชาเฉพาะที่ร่วมกับการให้ยาระงับปวดทางหลอดเลือดดำได้

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย

  • การอุดตันของหลอดเลือดเทียม เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดเทียมโดยอาจมีการตีบตันที่บริเวณ รอยต่อของหลอดเลือดจริงและหลอดเลือดเทียม หรือหลอดเลือดเทียมเสื่อมสภาพหลังจากการใช้งานมานาน

  • ภาวะการติดเชื้อ เกิดจากการดูแลความสะอาดไม่ดี

  • อาการมือเย็น ซีด ชา หรือปวดบริเวณปลายมือ เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้เลือดมาเลี้ยงปลายมือลดลง

take care

การดูแลหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ฝังหลอดเลือดเทียม เพื่อฟอกเลือด

  • หลังผ่าตัดควรยกแขนข้างที่ทำผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพราะแขนข้างที่ผ่าตัดจะบวมประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ การยกแขนจะช่วยลดบวม ผู้ป่วยควรรองแขนด้วยหมอน 1 ใบ

  • ไม่ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลที่แขนเอง แพทย์หรือพยาบาลจะมีใบนัดมาท่าแผล

  • หลังผ่าตัด 4 - 5 วัน เมื่อไม่มีอาการปวดแผลให้เริ่มออกกำลังแขนโดยการบีบ ลูกบอลยาง วันละ 500 - 1000 ครั้ง จะช่วยลดบวมของมือและแขนข้างที่ผ่าตัด

         *หมายเหตุ ถ้ายังมีอาการปวดแผลอยู่อาจรอจนตัดไหมแล้วก็ได้

  • ปกติแพทย์จะนัดตัดไหมหลังผ่าตัด 10 - 14 วัน

  • ไม่ควรรีบใช้หลอดเลือดเทียมเพื่อฟอกเลือดเร็วเกินไป ควรรอประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด เนื่องจากการแทงเข็มเข้าหลอดเลือดเทียมอาจทำให้มีเลือดรั่วออกมาอยู่รอบๆ หลอดเลือดเทียมทำให้เป็นรอยจ้ำเลือด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ยกเว้นหลอดเลือดเทียมชนิดใช้ได้เร็วจะสามารถใช้แทงฟอกได้เลย

  • หลังจากตัดไหมแล้วไม่ควรใช้มือข้างนั้นยกของหนัก ไม่ควรใส่เสื้อที่รัดแขน

       ไม่ควรใส่นาฬิกาข้อมือหรือสร้อยข้อมือ

  • ต้องระวังอย่าใช้แขนข้างที่ผ่าตัดมาหนุนศีรษะเพราะจะกดทับหลอดเลือดเทียมทำให้อุดตันได้ง่าย

  • ไม่ควรพับงอข้อศอกแขนข้างที่ผ่าตัดนานๆจะทำให้หลอดเลือดเทียมอุดตันได้ง่าย

  • ควรใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดหรือให้ญาติคลำบริเวณแผลผ่าตัดบริเวณข้อพับข้อศอกแต่อย่ากดแรงจะรู้สึกฟู่ๆ เหมือนมีน้ำไหลผ่านโดยคลำวันละ 1 ครั้ง

  • ห้ามให้ใครมาวัดความดันโลหิต เจาะเลือดหรือให้น้ำเกลือแขนข้างที่ทำผ่าตัดตลอดไป ยกเว้นใช้เพื่อการฟอกเลือดในห้องไตเทียม

  • ทำความสะอาดแขนได้โดยการฟอกสบู่วันละครั้งและอาจทาด้วยโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันผิวหนังแตก

  • ไม่ควรประคบร้อนหรือเย็นบริเวณแขนที่ผ่าตัด

เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์

  • แขนมีอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือบวมมากถึงต้นแขน

  • มีน้ำหรือหนองไหลออกจากแผลผ่าตัด

  • มีไข้ หนาวสั่น

  • มีอาการปวดแขนหรือปวดมือมากผิดปกติ มีความรู้สึกเจ็บแปลบๆ ปลายมือ และกล้ามเนื้อรู้สึกอ่อนแรงกำมือไม่ได้สนิท

  • มีก้อนปูดที่แผลผ่าตัดหรือตามรอยของหลอดเลือดเทียม

  • คลำไม่ได้ฟู่ โดยเงียบหายไปทั้งที่เคยคลำได้มาก่อน รู้สึกเสียงเบาลงหรือคลำได้แค่เต้นเหมือนชีพจรและไม่มีเสียงฟู่

  • หลังถอดเข็มฟอกเลือดต้องใช้เวลากดนานมากหรือกดแล้วเลือดไม่หยุด

  • ขณะฟอกเลือดมีอาการปวดแขนหรือมือ

  • ขณะที่ฟอกเลือดมือข้างนั้นมีอาการเย็น ซีด เป็นเหน็บชา 

bottom of page