top of page
Arm

การดูแลตนเองสำหรับ
ผู้ป่วยผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำเพื่อใช้สำหรับฟอกเลือด

การผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและดำเพื่อฟอกเลือด

เป็นการนำหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำมาเย็บเชื่อมต่อกันภายในร่างกาย หลังผ่าตัดไม่สามารถใช้ฟอกเลือดได้ทันที ต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนจึงจะประเมินอีกครั้งว่าใช้ได้หรือไม่ เมื่อสามารถใช้ได้แล้วอายุการใช้ งานโดยเฉลี่ยของหลอดเลือดจริง 3-5 ปี

การผ่าตัดหลอดเลือดวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ใช้งานได้นานและประหยัดที่สุด โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยและถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนก็แก้ไขได้ง่ายกว่า

ตำแหน่งที่นิยมทำผ่าตัด

นิยมทำบริเวณข้อมือและข้อพับศอก โดยจะผ่าตัดแขนข้างที่ไม่ถนัดเป็นอันดับแรก เพื่อให้สามารถใช้แขนข้างที่ถนัดทำงานต่างๆ ได้  แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยมีหลอดสวนหรือสายฟอกเลือดที่คอหรือหน้าอกด้านใด แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดหลอดเลือดจริงที่แขนอีกข้างหนึ่งก็ได้

การให้ยาระงับความรู้สึก

  • ปกติจะใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ (กรณีนี้ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร)

  • อาจทำโดยฉีดยาชาสกัดกั้นเส้นประสาทแขนหรือดมยาสลบ(ต้องงดน้ำและอาหารมาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง)

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย

  • การอุดตันของหลอดเลือด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดีทางไหลของเลือดตีบแคบ

  • ภาวะการติดเชื้อ เกิดจากการดูแลความสะอาดไม่ดี

  • อาการมือเย็นซีด ชาหรือปวดบริเวณปลายมือ เนื่องจากการผ่าตัดจะทำให้เลือดมาเลี้ยงปลายมือลดลง

ผ่าตัด

การดูแลหลังผ่าตัด

  • ระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ ถ้าถูกน้ำต้องมาเปลี่ยนผ้าปิดแผลที่ โรงพยาบาลหรือคลินิก

  • ไม่ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลเอง แพทย์หรือพยาบาลจะมีใบนัดมาทำแผล

  • หลังผ่าตัด 4-5 วันเมื่อไม่มีอาการปวดแผลให้เริ่มออกกำาลังแขน โดยการบีบลูกบอลยางวันละประมาณ 500 - 1000 ครั้ง

        *หมายเหตุ ถ้ายังมีอาการปวดแผลอยู่อาจรอจนตัดไหมแล้วก็ได้

  • ปกติแพทย์จะนัดตัดไหมหลังผ่าตัด7-14 วัน

  • ไม่ควรรีบใช้หลอดเลือดเพื่อฟอกเลือดเร็วเกินไปควรรออย่างน้อย 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด เนื่องจากหลอดเลือดยังมีขนาดเล็กเกินไป และผนังยังไม่หนาพอ การใช้เร็วเกินไปเข็มที่แทงอาจทำให้มีเลือดรั่ว ออกมาอยู่รอบๆหลอดเลือดทำให้เป็นรอยจ้ำเลือดทำให้มีโอกาส เกิดลิ่มเลือดอุดตัน และติดเชื้อได้ง่าย

  • หลังจากตัดไหมแล้วไม่ควรใช้มือข้างนั้นยกของหนัก ไม่ควรใส่เสื้อที่รัดแขน ไม่ควรใส่นาฬิกาข้อมือหรือสร้อยข้อมือ

  • ต้องระวังอย่าใช้แขนข้างที่ผ่าตัดมารองศีรษะจะทำให้กดทับหลอดเลือดทำให้อุดตันได้ง่าย

  • ไม่ควรพับงอข้อศอกแขนข้างที่ผ่าตัดนานๆจะทำให้การไหลของเลือดติดขัดทำให้อุดตันได้ง่าย

  • ควรใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดหรือให้ญาติคลำบริเวณแผลผ่าตัด บริเวณข้อมือหรือข้อพับศอกแต่อย่ากดแรงจะรู้สึกฟู่ๆเหมือนมีน้ำไหลผ่าน โดยคลำวันละ 1 ครั้ง

  • ห้ามให้ใครมาวัดความดันโลหิต เจาะเลือดหรือให้น้ำเกลือแขนข้างที่ทำผ่าตัด ตลอดไป ยกเว้นใช้เพื่อการฟอกเลือดในห้องไตเทียม

  • ทำความสะอาดแขนได้โดยการฟอกสบู่วันละครั้งและอาจทาด้วยโลชั่น ที่ให้ความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันผิวหนังแตก

  • ไม่ควรประคบร้อนหรือเย็นแขนข้างที่ผ่าตัด

เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์

  • หลังผ่าตัดมีเลือดไหลออกจากแผลผ่าตัด

  • แผลผ่าตัดบวม แดง ร้อน หรือบวมมากถึงต้นแขน

  • หลังผ่าตัดมีอาการปวดแขนหรือมือมากผิดปกติมีความรู้สึก เจ็บแปลบๆ ที่ปลายมือ และกล้ามเนื้อรู้สึกอ่อนแรงกำมือไม่ได้สนิท

  • มีน้ำหรือหนองไหลออกจากแผลผ่าตัด

  • มีไข้ หนาวสั่น

  • มีก้อนปูดที่แผลผ่าตัด

  • คลำไม่ได้ฟู่ๆ โดยเงียบหายไปทั้ง ๆ ที่เคยคลำได้มาก่อน รู้สึกเสียงฟู่เบาลงหรือคลำได้แค่เต้นเหมือนชีพจรและไม่มีเสียงฟู่

  • ขณะฟอกเลือดมีอาการปวดมือ

  • ขณะที่ฟอกเลือดมือข้างนั้นอยู่ถ้ามีอาการเย็นซีดหรือเป็นเหน็บชา 

bottom of page