การผ่าตัดฝังพอร์ตให้ยาเคมีบำบัดหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ
(Port Implantation)
พอร์ตเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแป้นที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังของร่างกาย เพื่อใช้ในการนำตัวอย่างเลือดหรือให้สารน้ำและยาต่างๆรวมทั้งยาเคมีบำบัด เข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ พอร์ตจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนตัวพอร์ต (Port) และหลอดสวน (Catheter)
ต่อเชื่อมกันด้วยตัวเสียบล็อค (Connecter) ในส่วนตัวพอร์ตนั้นทำมาจาก ซิลิโคนล้อมรอบด้วยซิลิโคนหรือไททาเนียม เมื่อผ่าตัดฝังพอร์ตไว้ใต้ผิวหนังแล้วจะทำให้ผิวหนังนูนขึ้นมา
เล็กน้อยและคลำได้เป็นปุ่มแข็งๆ ซิลิโคนที่ใช้ทำพอร์ตจะออกแบบพิเศษเพื่อใช้ในการแทงเข็มฉีดยาที่ทำขึ้นพิเศษที่สามารถเจาะซ้ำได้หลายๆครั้งโดยไม่เกิดการรั่ว และส่วนหลอดสวน (Catheter) ที่ต่อจากส่วนของพอร์ตนั้นจะสอดเข้าไปที่หลอดเลือดดำใหญ่ในร่างกาย เช่น หลอดเลือดดำที่คอ (Jugular vein) หลอดเลือดดำใต้กระดูกไหปลาร้า (Subclavian vein) และให้ปลายหลอดสวนไปวางอยู่บริเวณ หลอดเลือดดำใหญ่บนที่ไหลเข้าหัวใจห้องบนขวา (Superior vena cava)
ข้อบ่งชี้สำหรับผู้ป่วยที่ควรได้รับการฝังพอร์ต
ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำเป็นระยะเวลานานหรือบ่อยๆ ได้แก่
-
การให้ยาเคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
-
การให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
-
การให้สารอาหารเข้าหลอดเลือดดำระยะยาว (PPN)
-
การให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่
-
การให้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
-
การฉีดสีเพื่อตรวจในผู้ที่ต้องทำการตรวจเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (CT scan หรือ MRI)
ข้อดีของพอร์ต
แพทย์ พยาบาลสามารถให้ยาหรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำใหญ่ได้ง่าย
ผู้ป่วยที่ได้รับการเจาะเลือดหรือการให้ยาทางพอร์ต จะมีความเจ็บปวดน้อยกว่าวิธีปกติ เนื่องจากบริเวณผิวหนังที่ฝังตัวพอร์ตนั้น มีความหนาของผิวหนังมากกว่าและความรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าผิวหนังบริเวณแขน
ผู้ป่วยไม่ทรมานจากการเจาะเส้นเลือดตามแขนบ่อยๆและมีอัตราการติดเชื้อต่ำ
ผู้ป่วยสามารถได้รับยาหรือสารอาหารที่มีความเข้มข้นสูง โดยไม่เกิดอาการอักเสบของหลอดเลือดดำเพราะพอร์ตจะต่อเข้ากับหลอดเลือดดำใหญ่ ต่างจากการให้ยาทางหลอดเลือดดำที่แขน ซึ่งเป็นหลอดเลือดดำที่เล็กกว่ามีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำได้ง่าย รวมทั้งอาจเกิดหลอดเลือด ดำแตกง่ายกว่าทำให้ยารั่วออกมาแทรกตามเนื้อเยื่อบริเวณแขนได้ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย
อายุการใช้งานของพอร์ต
และการเริ่มใช้
สามารถเริ่มใช้งานได้ทันที อายุการใช้งานในการเจาะเลือดหรือการแทงเข็มเพื่อให้ยาสามารถใช้งานได้หลายปี(เฉลี่ย 3-5 ปีโดยประมาณ) และใช้แทงได้จำนวนครั้ง
1,000-2,000 ครั้งต่อพอร์ตเป็นอย่างน้อย
การผ่าตัดฝังพอร์ต
การผ่าตัดฝังพอร์ตกระทำโดย ศัลยแพทย์ทั่วไปหรือศัลยแพทย์หลอดเลือด (Vascular Surgeon)
หรือแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiologist) การผ่าตัดฝังพอร์ตเป็นการผ่าตัดเล็กที่ทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่หรือยาดมสลบ (ในบางกรณีเช่นผู้ป่วยเด็ก)
ขั้นตอน
เริ่มจากการกรีดผิวหนังให้เป็นรอยเพียง 1 -2 รอยบริเวณคอและหน้าอก(กรณีฝังที่หน้าอก) จากนั้นแพทย์จะทำการใส่หลอดสวน (Catheter) ลงไปยังหลอดเลือดดำแล้วตามด้วยการฝังตัวพอร์ต และเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน จากนั้นเย็บปิดผิวหนังด้วยไหมละลายไม่ต้องตัดไหม ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง แพทย์อาจจะทำการเอ็กซเรย์หลังผ่าตัดฝังพอร์ตเพื่อตรวจดูตำแหน่งของปลายหลอดสวนอีกครั้งหลังผ่าตัด
การดูแลหลังผ่าตัด
ไม่ต้องเปิดทำแผล ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแผลเล็กน้อย และสามารถรับประทานยาระงับอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวดธรรมดาและบางรายอาจได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
การเตรียมบริเวณผิวหนังก่อนที่จะใช้พอร์ต
1. ตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้น
ก่อนอื่นตรวจดูบริเวณผิวหนังเหนือพอร์ตทุกครั้งว่ามี อาการบวม แดง ร้อนหรือมีสารคัดหลั่งเช่นน้ำเหลือง หรือหนองหรือไม่
2. ทายาชา(ชนิดครีม)
กรณีที่ผู้ป่วยเกิดความกังวล อาจทายาชา(ชนิดครีม)ก่อนแทงเข็มประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อลดอาการเจ็บบริเวณที่แทงเข็ม
3. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณเหนือพอร์ต
4. ใช้เข็มพิเศษแทง
5. การใช้กระบอกฉีดยา(Syringe)
เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จะแทงด้วยวิธีปลอดเชื้อ Sterile technique เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ( 2 นิ้ว) ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 70% แอลกอฮอล์ แล้วตามด้วย Betadine) แล้วปล่อยให้แห้งเอง
ใช้เข็มพิเศษ (Huber point needle, Non-coring needle) สำหรับแทงพอร์ตเท่านั้นใช้ได้ทั้งชนิดไม่มีปีกหรือใช้ชนิดมีปีกก็จะง่ายและ สะดวก
(แต่แพงกว่า) และมี Extension ต่อไว้สำเร็จรูป
ใช้กระบอกฉีดยาขนาด 10 มิลลิลิตร (Syringe 10 mL) ดูดน้ำเกลือ 0.9% NaCl ฉีดล้างพอร์ตว่าไหลดีหรือไม่ก่อนเริ่มการใช้งาน
ข้อแนะนำบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็ม
-
ควรเปลี่ยนบริเวณที่แทงเข็ม อย่าย้ำ ที่รอยเข็มเดิมตลอด
-
หลังจากแทงเข็มเพื่อให้ยาหรือสารน้ำแก่ผู้ป่วยแล้วควรใช้พลาสเตอร์ปิดทับเข็มเพื่อป้องกันไม่ให้เข็มขยับหรือเลื่อนหลุด
-
ควรใช้ transparent dressing หรือพลาสเตอร์ใสกันน้ำปิดทับบริเวณเข็ม และพอร์ตอีกครั้งเพื่อให้สามารถสังเกตเห็นบริเวณที่ให้ยาว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
-
ควรทำการเปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนเข็มหรือเมื่อครบ 7 วัน หรือในกรณีอื่นๆที่มีความจำเป็น เช่น แผ่นปิดแผลฉีกขาดเสียหายหรือร่อนหลุดออกจากผิวหนัง
-
หากพอร์ตไม่ได้ใช้งานไม่จำเป็นต้องปิดแผล แต่ต้องมาตามนัดแพทย์เพื่อฉีดล้างและหล่อพอร์ตด้วยน้ำยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในตัวพอร์ตตามกำหนด
การให้ยาหรือสารละลาย
-
การให้ยาหรือสารละลายผ่านทางพอร์ตต้องใช้เข็มชนิดพิเศษที่ใช้กับพอร์ตโดยเฉพาะ เข็มจะมีลักษณะปลายเข็มโค้งเล็กน้อยเพื่อป้องกันการทำลาย silicone septum โดยเข็มที่ใช้ได้ เช่น Surecan® Straight หรือ Surecan® Angled หรือเข็มชนิดพิเศษที่มีสายต่อออกจากเข็ม เช่น Surecan® Winged, Cytocan® หรือ Surecan® Safety II (ยี่ห้อของเข็มอาจแตกต่างจากนี้ได้ถ้าเป็นเข็มที่ผลิตมาสำหรับพอร์ตโดยเฉพาะ)
-
การเลือกเข็มแต่ละชนิด เข็มมีหลายขนาดเช่น No.20, No.22 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการให้ยาหรือสารละลายและความเหมาะสมกับข้อบ่งชี้ เช่นความเร็วในการให้สารน้ำ สารละลาย หรือสารทึบแสง
-
เข็มชนิดพิเศษนี้จะมีทั้งขนาดเล็ก ใหญ่และความยาวหลายขนาด การเลือกความยาวของเข็มขึ้นอยู่กับความลึกของแป้น ผู้ป่วยแต่ละรายและลักษณะของสารน้ำที่จะให้ผู้ป่วย
การใช้และการหล่อพอร์ตไม่ให้เกิดลิ่มเลือด
-
ใช้ปลายนิ้วคลำหาตำแหน่งพอร์ตจะรู้สึกได้ถึงความนูนแข็งของพอร์ตที่สัมผัส เมื่อพบแล้วให้ใช้สองนิ้วกดล็อคพอร์ตให้อยู่ระหว่างนิ้ว แล้วใช้มืออีกข้างที่ถนัดจับเข็มปักที่กลางพอร์ตจนรู้สึกว่าเข็มผ่านเนื้อซิลิโคนลงไปชนกับพื้นของพอร์ตที่เป็นโลหะ
-
ทดสอบการทำงานของพอร์ตโดยการดูดเลือดว่ามีการไหลย้อนกลับของเลือดและสามารถฉีดน้ำเกลือ0.9% NaCl 5 mL เข้าพอร์ตได้ดีหรือไม่ (หากไม่มีเลือดไหลย้อนกลับมาแสดงว่าเกิดปัญหาให้แจ้ง แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทราบ)
-
ถ้าต้องการส่งเลือดตรวจควรดึงเลือดทิ้ง 7 mL ก่อนเสมอ
-
ถ้าต้องใช้พอร์ตอย่างต่อเนื่องโดยการหยดสารน้ำควรมีอัตราการไหลอย่างน้อย 40 mL/hr หรือ KVO
การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด
การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดสามารถให้ได้โดยควรเลือกใช้เข็มขนาด 19G หรือ 20G เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดง
หลังจากให้เลือดเรียบร้อยแล้วให้ล้างพอร์ตด้วยน้ำเกลือ 0.9% NaCl 20 mL ตามวิธีปฏิบัติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (Partial Parenteral Nutrition, PPN)
โดยทั่วไปการให้สารอาหารทางพอร์ตต่อเนื่องตลอดจะทำให้พอร์ตมีการอุดตันหรือติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้สารอาหารชนิด Total Parenteral Nutrition (TPN) หากจำเป็นอาจให้สารอาหารบางชนิด( PPN) เป็นครั้งคราวได้ควรเลือกใช้เข็มขนาด 19G หรือ 20G เพื่อให้ สารละลายสามารถไหลได้สะดวก หลังจากให้สารอาหารเรียบร้อยแล้วให้ทำการฉีดล้างพอร์ตด้วยการฉีดน้ำเกลือ 0.9% NaCl 10 mL
การฉีดล้างและหล่อพอร์ตด้วยเฮปาริน (Heparin)
-
ทุกครั้งก่อนการให้ยาหรือสารละลายต้องทำการตรวจสอบการทำงานของพอร์ตและสายก่อน โดยใช้ syringe ลองดูดเลือดและทำการฉีด 0.9% NaCl 10 mL (สำหรับเด็กใช้ 5 mL) หากไม่มีการไหลย้อนกลับของเลือดเข้าสู่ syringe ให้พยายามฉีด 0.9% NaCl ทีละน้อยดูว่าไหลเข้าได้หรือไม่
-
ถ้าหากไม่สามารถฉีดได้หรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด หรือบวมบริเวณผิวหนังที่ฝังพอร์ต และแนวสายที่ต่อเข้า หลอดเลือดดำแสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นควรแจ้งแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการแก้ไขควรทำการล้างพอร์ต และสายทุกครั้งหลังจากให้ยาหรือสารละลายเสร็จแล้ว
-
ในกรณีที่พอร์ตไม่ได้ใช้งานควรทำการล้างทุก 4-6 สัปดาห์ และอาจนานได้ถึง 8 สัปดาห์ ด้วยน้ำเกลือ 0.9% NaCl 10 mL (สำหรับเด็กใช้ 5 mL) และตามด้วยการให้ Heparinized saline solution ที่เตรียมไว้ (ยกเว้นสายเป็นชนิด Groshong)
-
ควรฉีดล้างพอร์ตด้วยน้ำเกลือ 0.9% NaCl 10 mL ก่อนการให้ Heparinized saline solution ทุกครั้ง
-
ยาบางชนิดทำปฏิกิริยากับ Heparin แล้วเกิดการตกตะกอนอาจทำให้เกิดการอุดตันที่พอร์ต หรือสายที่ต่อเข้าหลอดเลือดได้
การถอนเข็มออกจากพอร์ต
ก่อนที่จะถอนเข็มออกควรฉีดล้างด้วยน้ำเกลือ 0.9% NaCl ตามปริมาณที่กำหนดก่อน แล้วจึงหล่อพอร์ตด้วยน้ำเกลือที่ผสมเฮปาริน(Heparinized Saline Solution) ที่มีความเข้มข้น 100-200 I.U./mL จำนวน 5 mL
(ต.ย.การผสมเฮปาริน 0.2 mL (5000 units/mL) กับน้ำเกลือ 0.9% NaCl .ให้เป็น 5 mL (จะได้ความเข้มข้น 200 I.U./mL)
ฉีดล็อคจนหมดก่อนที่จะดึงเข็ม ออกทุกครั้งหลังจากการให้ยา สารน้ำหรือสารอาหาร และทายาฆ่าเชื้อก่อนปิดแผล