top of page
Arm

การดูแลหลังผ่าตัดทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ

การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ


คือ การเจาะรูแผลเล็กเพื่อบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตที่มีอาการตีบตันให้กลับมาใช้ฟอกไตได้ดังเดิมโดยไม่ต้องผ่าตัดแบบแผลใหญ่เหมือนแต่ก่อน การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบเป็นนวัตกรรมใหม่และสามารถฉีดสารทึบแสงเพื่อเอกซเรย์ดูรอยโรคอื่นที่อาจพบร่วมด้วย

สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดฟอกไตตีบ
1. เกิดการตีบหลังจากมีการแทงใช้ฟอกเลือดไประยะหนึ่งแล้ว หรืออาจมีเส้นเลือดดำตีบบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า
2. เกิดการตีบบริเวณรอยต่อเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงและดำหรือเส้นเลือดแดงหรือดำกับหลอดเลือดเทียม
3. ปกติหลังผ่าตัดเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 6-8 สัปดาห์ เส้นเลือดฟอกไตมักสามารถใช้แทงฟอกเลือดได้ แต่อาจพบว่าในบางราย ขนาดของเส้นเลือดดำไม่โตขึ้นตามช่วงเวลาที่ควรใช้แทงฟอกเลือดได้ อาจเกิดจากเส้นเลือดบางตำแหน่งมีการตีบโดยเฉพาะเส้นเลือดดำใกล้รอยต่อเชื่อมของหลือดเลือดแดงและดำ

การรักษาแก้ไขเส้นเลือดฟอกไตตีบ
     การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ คือ การแก้ไขเส้นเลือดฟอกไตที่มีอาการตีบตันให้สามารถกลับมาใช้งานฟอกไตได้โดยไม่ต้องทำเส้นฟอกเลือดใหม่
     ศัลยแพทย์หลอดเลือดที่มีความชำนาญจะทำการผ่าตัดเจาะรูที่เส้นฟอกไตและเอาสายที่ปลายมีบอลลูนเข้าไปกางบอลลูนเส้นฟอกไตที่ตีบ ร่วมกับการฉีดสารทึบแสงเพื่อดูรอยโรคอื่นที่อาจพบร่วมด้วยซึ่งสามารถทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตร่วมด้วยในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน


การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ
1. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนทำการบอลลูน
2. ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น Aspirin, Clopidogrel (Plavix, Apolets)  มาก่อน 5-7 วัน หรือหากไม่ได้รับประทานยามาผู้ป่วยจะได้รับในวันที่ทำหัตถการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
3. หากมีประวัติแพ้ยา อาหารทะเล หรือเลือดออกง่ายและหยุดยาก ต้องแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบล่วงหน้า
4. หากมีประวัติการตรวจอื่นๆ เช่น  ฟิล์มเอกชรย์ปอดและหัวใจ หรือ Echo หัวใจ ผลการตรวจเลือดที่ไม่ควรเกิน 1 เดือน 
 

ภาพการรักษาด้วยการบอลลูน.png
AVF BVAC1.2.png
ตำแหน่งที่ผ่าตัดทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ

•    ส่วนใหญ่เป็นเส้นฟอกไตที่แขนที่ตีบ อาจเป็นท้องแขนหรือต้นแขน ส่วนน้อยอาจเป็นที่หลอดเลือดดำที่ใต้กระดูกไหปลาร้า หรือหลอดเลือดดำในอกร่วมด้วย (ถ้าผู้ป่วยเคยใส่สายฟอกเลือดมาก่อน) 
•    แผลจะเป็นรูเล็กๆ 1-2 แผล โดยหลังผ่าตัดจะเย็บแผลไว้ 1-2 เข็ม

การให้ยาระงับความรู้สึก

1. ปกติจะใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ (กรณีนี้ผู้ป่วยอาจไม่ต้องงดน้ำและอาหาร)
2. อาจทำโดยฉีดยาชาสกัดกั้นเส้นประสาทแขนหรือดมยาสลบ (ต้องงดน้ำและอาหารมาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง)

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย

1.    การทำบอลลูนมีความเสี่ยงน้อยเพียง 1% แต่ยังคงมีความเสี่ยงของการทำบอลลูนอยู่บ้าง โดยภาวะเสี่ยงของการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตอาจมีดังต่อไปนี้
2.    ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือปวดบริเวณที่แทงเจาะรูใส่บอลลูน
3.    แพ้สารทึบแสง อาจเกิดภาวะช็อกได้
4.    หัวใจเต้นผิดจังหวะ จากการใส่ลวดนำเข้าทางหลอดเลือดดำลงสู่หัวใจ
5.    เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันที่ปอด

ผ่าตัด

การดูแลหลังผ่าตัดทำบอลลูนขยายเส้นเลือดฟอกไตตีบ

1.    ระวังอย่าให้แผลถูกน้ำ ถ้าถูกน้ำต้องมาเปลี่ยนผ้าปิดแผลที่ โรงพยาบาลหรือคลินิก
2.    ไม่ควรเปลี่ยนผ้าพันแผลเอง แพทย์หรือพยาบาลจะมีใบนัดมาทำแผล
3.    รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ควรหยุดยาเอง 
4.    งดออกกำลังกายหนัก งดการขับรถเอง หรือใช้แรงมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก
5.    ห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัดทำบอลลูน
6.    หลังจากผ่าตัด 3-5 วัน เมื่อไม่มีอาการปวดแผลให้เริ่มออกกำลังบริหารเส้นเลือดที่แขน โดยการบีบลูกบอลยางวันละประมาณ 500 - 1000 ครั้ง (ดูคลิปวิธีการบริหารเส้นเลือดฟอกไตที่แขน)
7.    ปกติแพทย์จะนัดตัดไหมหลังผ่าตัด 7-14 วัน
8.    หลังจากตัดไหมแล้วไม่ควรใช้มือข้างผ่าตัดยกของหนัก ไม่ควรใส่เสื้อที่รัดแขน ไม่ควรใส่นาฬิกาข้อมือหรือสร้อยข้อมือ
9.    ต้องระวังอย่าใช้แขนข้างที่ผ่าตัดมารองศีรษะจะทำให้กดทับหลอดเลือดทำให้อุดตันได้ง่าย
10.    ไม่ควรพับงอข้อศอกแขนข้างที่ผ่าตัดนานๆจะทำให้การไหลของเลือดติดขัดทำให้อุดตันได้ง่าย
11.    ควรใช้มืออีกข้างคลำบริเวณแผลผ่าตัด บริเวณข้อมือหรือข้อพับศอกแต่อย่ากดแรงจะรู้สึกฟู่ๆเหมือนมีน้ำไหลผ่าน โดยคลำวันละ 1 ครั้ง
12.    ห้ามวัดความดันโลหิต เจาะเลือดหรือให้น้ำเกลือแขนข้างที่ทำผ่าตัดตลอดไป ยกเว้นใช้เพื่อการฟอกเลือดในห้องไตเทียม
13.    ไม่ควรประคบร้อนหรือเย็นแขนข้างที่ผ่าตัด
14.    ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการใส่ขดลวด (Stent) แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันเกล็ดเลือดเกาะขดลวดและเพื่อป้องกันขดลวดเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ควรมาพบแพทย์

1.    หลังผ่าตัดมีเลือดไหลออกจากแผลผ่าตัด
2.    แผลผ่าตัดบวม แดง ร้อน หรือต้นแขนบวม
3.    หลังผ่าตัดมีอาการปวดแขนหรือมือมากผิดปกติมีความรู้สึก เจ็บแปลบๆ ที่ปลายมือ และกล้ามเนื้อรู้สึกอ่อนแรงกำมือไม่ได้สนิท หรือ มีอาการเย็นเป็นเหน็บชา
4.    มีน้ำหรือหนองไหลออกจากแผลผ่าตัด
5.    มีไข้ หนาวสั่น
6.    มีก้อนปูดที่แผลผ่าตัด
7.    คลำไม่ได้ฟู่ๆ 
8.    อาการเย็นซีดหรือเป็นเหน็บชา

bottom of page